แม้จะได้รับการยอมรับว่าประโยชน์มากมาย แต่กระเทียมขึ้นชื่อว่าเป็นพืชที่รับประทานยาก เพราะมีกลิ่นแรง ด้วยเหตุนี้นักวิทยาศาสตร์จึงคิดค้นวิธีการทำผลิตภัณฑ์กระเทียมขึ้นมา เช่น สกัดน้ำมันกระเทียมและบรรจุในแคปซูลเพื่อสะดวกในการกินและคงสารอาหารในกระเทียมครบถ้วน
ปัจจุบันกระเทียมยังได้รับการยอมรับว่าเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เยียวยาบำบัดโรคและได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นสมุนไพรเสริมสุขภาพจากองค์การเภสัชกรรม ผลิตภัณฑ์กระเทียมจึงได้รับความนิยมและมีผู้ผลิตออกมาจำหน่ายหลายประเภท ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขให้คำจำกัดความผลิตภัณฑ์กระเทียมว่า
ผลิตภัณฑ์กระเทียม หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่นำเอากระเทียมมาปรุงแต่ง หรือทำขึ้นในลักษณะเป็นของเหลวหรือแห้ง และจะผสมสิ่งอื่นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งบรรจุในแคปซูล หรืออัดเป็นเม็ด
การแปรรูปกระเทียมเป็นของเหลวหรือของแห้งนั้นก็เพื่อสะดวกต่อการรับประทานและหลีกเลี่ยงกลิ่นฉุน ผลิตภัณฑ์กระเทียมที่วางขายทั่วไป มี 3 ประเภท ดังนี้
- น้ำมันกระเทียมในแคปซูล ข้างในแคปซูลจะเป็นน้ำมันกระเทียมประมาณ 0.25 – 1 เปอร์เซ็นต์ เจือจางในน้ำมันพืชเป็นการให้ความร้อนกับกระเทียมในน้ำมันพืช จะได้สารที่เรียกว่าอะโจอิน (Ajoene) ในน้ำมัน มักบรรจุในแคปซูล
- กระเทียมสกัดผงในแคปซูลหรือเม็ดเคลือบ มีทั้งที่บรรจุในแคปซูล หรือทำเป็นเม็ดเคลือบ เป็นการทำให้กระเทียมเป็นผงแห้ง อัลลิอินกับอัลลิอินเนสจึงไม่ทำปฏิกิริยากัน เมื่อรับประทานจะไปเกิดอัลลิซินในร่างกาย โดยต้องให้การผสมของอัลลิอินกับอัลลิอินเนสเกิดขึ้นในส่วนของลำไส้ มีรายงานผลการทดลอง พบว่ามีผลดีในการลดคอเลสเตอรอลและไขมันประเภท LDL แต่ไม่มีผลกับไตรกลีเซอไรด์
- กระเทียมสกัดผงในแคปซูล (นำกระเทียมมาปั่นด้วยเครื่องปั่น) ที่เตรียมจากการบ่มกระเทียม (Aged Garlic) ไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 2 ปี ก่อนนำมาใช้โดยบรรจุในแคปซูล ดังนั้นสารที่บรรจุในแคปซูลเป็นสารที่เกิดจากการสลายตัวของอัลลิซินจนถึงขั้นสุดท้าย จะได้เป็นสารที่ละลายในน้ำและดูดซึมได้ดี ไม่มีกลิ่นของกระเทียมเหลืออยู่ มีการทดลองเกี่ยวผลิตภัณฑ์นี้มาก และเป็นที่ยอมรับระดับหนึ่งว่าสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลและการจับตัวของเกล็ดเลือดมีผลลดความดันโลหิต มีผลต้านอนุมูลอิสระ และมีการพยายามศึกษาการใช้ในผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยเอดส์
ผลิตภัณฑ์กระเทียมเหมาะกับใคร สำหรับคนที่สนใจผลิตภัณฑ์กระเทียมควรเลือกใช้โดยพิจารณาจากสุขภาพของตนเองเป็นหลัก เพื่อให้ได้รับประโยชน์จาการรับประทานกระเทียมมากที่สุด ดังนี้
- สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว และไม่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยโรคเรื้อรัง คนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องรับประทานกระเทียมเสริม เพียงแค่รับประทานกระเทียมในมื้ออาหาร รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ
- สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เลือกผลิตภัณฑ์กระเทียมที่เหมาะสมกับสุขภาพ โดยควรรับประทานในปริมาณน้อย
- ผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวทั้ง 3 ข้อหรืออย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ มีปัญหาสุขภาพ มีโรคประจำตัว มีคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเรื้อรัง แต่แพทย์ยังไม่ให้ใช้ยา เช่น มีระดับคอเรสเตอรอลสูงแต่ยังไม่ต้องใช้ยา แนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์กระเทียมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงพร้อมกับการปรับพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคเรื้อรัง และแพทย์สั่งให้ใช้ยา ควรกินยาเป็นประจำและกินผลิตภัณฑ์กระเทียมเพื่อส่งเสริมสุขภาพควบคู่กันไป
สังเกตฉลากก่อนเลือกซื้อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนดให้ผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์กระเทียมแสดงข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์ (ภาษาไทยหรืออังกฤษ) ที่มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ชื่อผลิตภัณฑ์
- เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย.
- ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้แบ่งบรรจุ สำหรับผลิตภัณฑ์กระเทียมที่ผลิตในประเทศ ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้าและประเทศผู้ผลิต สำหรับผลิตภัณฑ์กระเทียมที่นำเข้า
- ปริมาณสุทธิเป็นระบบเมตริก
- จำนวนบรรจุเป็นหน่วยต่อภาชนะบรรจุ
- ปริมาณส่วนประกอบที่สำคัญต่อหน่วย
- ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” ถ้ามีการใช้
- ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” แต่งรสธรรมชาติ” ถ้ามีการใช้แล้วแต่กรณี
- เดือนและปีที่ผลิต และเดือนและปีที่หมดอายุการบริโภค เดือนและปีที่ผลิตภัณฑ์ยังมีคุณภาพ
- คำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์และการเก็บรักษา (ถ้ามี)
- ข้อความที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด